จะสู้กับจีน ต้องสู้แบบจีน
.
.
ใครที่สั่งสินค้าจีนมาขายและกำลังเจอปัญหาจีนเอาสินค้าแบบเดียวกันเข้ามาขาย ต้องอ่านโพสนี้ แล้วจะเข้าใจว่าเวลาคนจีนขายแข่งกันในออนไลน์ คนจีนคิดและทำอย่างไร เราจะได้ปรับตัว รับมือได้ทัน
.
.
1. คนจีนมองว่าตลาดออนไลน์ เป็นตลาดใหญ่ที่ไม่มีคู่แข่งโดยตรง แต่ทุกคนคือคู่แข่งกันหมด เป้าหมายในการทำงานคือ ขายให้ได้มากที่สุดในตลาด ซึ่งวิธีการที่จะได้มากซึ่งยอดขายให้มากคือ มีสินค้ามาก x จำนวนร้านที่มาก x และเข้าถึงให้มาก ไม่ต้องสนใจเรื่องส่วนแบ่งตลาด คิดอย่างเดียวว่าทำยังไงตัวเองจะขายได้มากขึ้นกว่าเดิม
แนวคิดนี้คือแนวคิดพื้นฐานและเปลี่ยนมาเป็นกลยุทธ์และวิธีการสู้รบในออนไลน์ ใครที่ขายของลักษณะนี้ และไม่เชื่อแนวคิดนี้บอกตรงๆว่าจะแข่งยาก (ไม่เหมือนสินค้ามีแบรนด์ จะเล่นอีกเกมนึง)
.
.
2. คนจีนเชื่อว่า ทำมาก โอกาสชนะก็มาก จึงไม่ทำตลาดแบบ market segment แต่ทุก segment คือ market ของคนจีน ทำไมต้อง segment ในเมื่อสินค้าของเราตัวเดียวสามารถขาย “หลายราคา” ให้ลูกค้าได้ “หลายกลุ่ม”
.
.
3. รูปแบบการทำงานจึงเน้นแข่งด้วยระบบมากกว่าความคิดสร้างสรรค์
– การจัดการร้านจำนวนมากในที่เดียว
แต่ละธุรกิจของคนจีนเปิดร้านไม่ต่ำกว่า 50 ร้านรวมกันทุก platform มีสินค้าในแต่ละร้านไม่ต่ำกว่า 500 รายการ ทุกร้านขายของเหมือนกันแต่ราคาไม่เท่ากัน
ร้าน 1-10 ราคาแพงหน่อย หน้าร้านดูดี สินค้าเหรดดี
ร้าน 11-20 ราคารองๆ ลงมา ไล่ไปจนถึง 30-40 ร้าน
แบบนี้ เป็นต้น
.
คนจีนทำแบบนี้ได้เพราะมีระบบการจัดการร้านที่ดีมากรองรับ ทำให้คนจีนสามารถจัดการงานหลายสิบร้านได้ด้วยคนไม่กี่คน รูปสินค้าก็ถ่ายครั้งเดียว แล้วในระบบเปลี่ยนพื้นหลังบ้าง เพิ่มลายน้ำบ้าง เพิ่มขอบสีที่รูปบ้าง แค่นี้แต่ละร้านก็มีรูปเป็นของตัวเองแล้วจากรูปตั้งต้นแค่ชุดเดียว รวมถึงการตั้งเวลาลงแคมเปญก็สามารถทำพร้อมกันได้ทีเดียวทุกหน้าร้าน ทุกราคาผ่านระบบนี้
แค่นี้คนไทยก็ตายแล้ว
– การวิเคราะห์ข้อมูล
ระบบการจัดการมาพร้อมกับการวิเคราะห์ข้อมูลการขายละเอียดยิบตลอด journey ตั้งแต่การใช้ keyword คำไหนมีการเข้าถึงได้ดีกว่า เข้าถึงเท่าไหร่ คลิกดูกี่คน ซื้อจริงกี่คน ราคาเท่าไหร่ กี่รายการ ระบบจัดการร้านตอบได้หมด ซึ่งการวิเคราะห์นี้สามารถวิเคราะห์ของคู่แข่งได้ด้วย ถ้าเจอ Keyword ที่ดีกว่า ก็แค่ก้อปปี้มาเป็นของตัวเองโดยไม่รู้สึกผิด (โคตรชอบ)
– ระบบการวัดผล
งานทุกขั้นตอนมีการวัดผลทั้งหมด และมีวิธีการแก้ด้วยว่าต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง
สินค้าตัวไหนขายดี ดูได้ แล้วปรับราคา ปรับโปรฯ สู้ได้ทันที
ร้านไหนขายดี มองเห็น แล้วหาของ หาโปรฯ สู้กลับ
เป็นสงครามบนข้อมูล ไม่ใช้ความรู้สึก
CEO ไม่เก่งเท่า AI
.
.
4. คนจีนไม่กังวลว่าลูกค้าจะเจอว่าของแบรนด์เดียวกัน รุ่นเดียวกัน ทำไมแต่ละร้านขายราคาไม่เท่ากัน เพราะนั่นเป็นปัญหาของคนซื้อไม่ใช่คนขาย คุณพอใจราคาไหนคุณก็ซื้อไปสิ สุดท้ายเงินเข้าเราเหมือนกันนั่นแหละ
.
ข้อนี้เป็นจุดอ่อนของคนไทย กลัวลูกค้ามาด่า ทำให้เสียโอกาสในการขาย
.
.
5. ยอมให้ลูกค้าซื้อของชิ้นเดียวกันในราคาถูกกว่าจากร้านของเรา ดีกว่าให้ลูกค้าไปซ์้อจากคนอื่น
จริงอยู่ว่าเหมือนเราขาดทุนกำไรแต่ก็จำเป็นต้องทำ เพื่อเอาไว้แข่งและทำลายร้านคู่แข่งที่ขายราคาถูกมากๆ เมื่อได้ลูกค้ามาแล้วค่อยหาทางดึงขึ้นไปซื้อในกลุ่มราคาที่สูงขึ้นภายหลัง แนวคิดนี้เหมือน ถ้าจะให้ต้นไม้ใหญ่โต ต้องกำจัดวัชพืชให้หมดก่อน
.
.
ใครที่ขายของออนไลน์และยังอยากเติบโตใน platform
ต้องปรับวิธีคิดและทำให้เหมือนคนจีน
เพราะถ้าไม่ปรับ เราคงพอเดาได้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร