สวัสดีค่ะ วันนี้เราก็จะมาพูดถึงเรื่องต่างหู ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องและสาระความรู้ให้กับสาวๆหลายๆคนที่เจาะหู แล้วมีอาการแพ้ต่างหู ถ้าพูดถึงอาการนี้ขึ้นมา ต้องบอกเลยว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาต้นๆเลยทีเดียวสำหรับสาวๆที่เจาะหูจนเกิดอาการแพ้ เนื่องจากสาเหตุต่างๆรอบด้านได้
รู้ไหมว่าต่างหูสวย ๆ อาจกลายร่างเป็นศัตรูตัวร้ายที่สร้างความเจ็บปวด เรียกได้ว่าเป็นปัญหากวนใจที่พาลจะทำให้เลิกใส่ต่างหูไปเลย สำหรับใครหลายๆคนแล้วคงอยากทราบกันว่า แพ้ต่างหูเกิดจากอะไร อาการเป็นแบบไหน รักษาอย่างไรดี ? วันนี้เราเลยจะพาคุณไปไขข้อข้องใจเหล่านี้กัน พร้อมทั้งมีวิธีป้องกันการแพ้ต่างหูมาฝากสาว ๆ ด้วยค่ะจะมีอะไรบ้างนั้น ตามไปชมพร้อมกันเลยค่ะ
แพ้ต่างหู สาเหตุ เกิดจากอะไร ?
การแพ้ต่างหู เป็นหนึ่งในโรคแพ้เครื่องประดับที่เกิดขึ้นได้บ่อย สาเหตุเกิดจากวัสดุส่วนใหญ่ที่นำมาทำต่างหูก่อให้เกิดการแพ้และระคายเคืองต่อผิวหนังของผู้ที่ใส่ ซึ่งต่างหูแฟชั่นส่วนมากจะใช้โลหะหลายชนิดผสมกัน แต่สารสำคัญที่พบว่าเป็นสาเหตุของการแพ้มากที่สุดก็คือ “โลหะนิกเกิล”
นิกเกิล ถูกนำมาใช้ผสมอยู่ในเครื่องประดับ เพื่อเพิ่มความแข็งและให้ลักษณะมันวาว ไม่ใช่แค่ต่างหู แต่ยังพบได้ในแหวน สร้อยคอ นาฬิกา ซิป โครงเสื้อยกทรง หัวเข็มขัด กระดุม กรอบแว่นตา เป็นต้น เมื่อผิวหนังของเราสัมผัสกับสารเคมีอย่างนิกเกิล ก็จะเกิดการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เกิดปฏิกิริยาแพ้หรืออักเสบได้ จากการศึกษาพบว่ามีหญิงสาว 5-15% ที่แพ้สารเคมีชนิดนี้
ใส่ต่างหูเงิน ต่างหูทอง ทำไมถึงยังแพ้ต่างหู ?
นอกจากนิกเกิลจะก่อให้เกิดการแพ้ได้แล้ว ต่างหูที่ทำจากวัสดุอื่น ๆ เช่น ทอง เงิน ทองแดง ก็ทำให้ผิวหนังมีปัญหาได้เหมือนกัน เพราะการนำทองมาทำเครื่องประดับจำเป็นต้องผสมกับโลหะที่ทำให้ทองแข็งตัว เพื่อให้ขึ้นรูปร่างได้ ซึ่งโลหะนั้นสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือในบางคนก็อาจมีอาการแพ้ทองได้เช่นเดียวกัน
แพ้ต่างหู อาการเป็นอย่างไร ?
การแพ้ต่างหูจะมีอาการบวมแดงบริเวณรูหูเล็กน้อย 3-6 วันแรกหลังเจาะหูหรือเปลี่ยนต่างหู แต่ถ้ามีอาการบวมแดงมากกว่านั้น ให้สันนิษฐานว่าแผลเจาะหูอาจเกิดการติดเชื้อ โดยอาการที่บ่งบอกว่าแผลเจาะหูอาจติดเชื้อ ได้แก่
– เจ็บและบวมรอบ ๆ รูที่เจาะหู
– มีเลือดออก
– เป็นหนองหรือมีสะเก็ดแผลเกิดรอบ ๆ รูที่เจาะหู
– ต่างหูติดแน่นอยู่ที่หู
– มีไข้ หรืออุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส
การรักษาอาการแพ้ต่างหู
คุณสามารถรักษาการแพ้ต่างหูเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยใช้สำลีก้านชุบน้ำเกลือเช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบรูหูเป็นประจำ วันละ 2 ครั้ง วิธีนี้จะทำให้แผลหายไวและลดการติดเชื้อ
แต่ถ้าอาการแพ้ต่างหูเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยแพทย์จะแบ่งการรักษาเป็น 3 ส่วน ได้แก่
– การรักษาอาการผิวหนังอักเสบที่เกิดขึ้น ร่วมกับการใช้ยาทาเพื่อลดอาการคันและอักเสบ รวมถึงการใช้ยารับประทานเพื่อลดอาการคัน ทั้งยารับประทานสเตียรอยด์ และยาแก้แพ้กลุ่มแอนตี้ฮีสตามีน
– บำรุงผิวเพื่อลดการระคายเคืองของผิว โดยใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวที่ให้ความชุ่มชื้น
– หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดการแพ้
วิธีป้องกันการแพ้ต่างหู
ถ้าไม่อยากแพ้ต่างหู เรามีวิธีป้องกันการแพ้ต่างหูแบบง่าย ๆ มาฝาก ดังนี้
1. เลือกต่างหูที่ทำจากโลหะชนิดอื่นเพื่อลดความเสี่ยง เช่น ทอง เงิน พลาสติก ทองเหลือง หรือเครื่องประดับที่มีป้าย Nickel free
2. ไม่เอามือไปสัมผัสหรือหมุนก้านต่างหูบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ผิวระคายเคืองได้
3. ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสบริเวณรูหูทุกครั้ง
4. หลีกเลียงการใส่ต่างหูในวันที่ต้องทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก หรืออากาศร้อนๆ เพราะเหงื่อจะทำให้สารนิกเกิลละลายออกมาได้มากขึ้น
5. ใช้แอลกอฮอล์เช็ดก้านต่างหูก่อนใส่ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อ
6. ใช้วาสลีนทาก่อนใส่ต่างหู เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
7. ใช้ยาทาเล็บแบบใสทาบาง ๆ รอบก้านต่างหูและบริเวณหลังต่างหูที่สัมผัสโดนติ่งหู ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วค่อยใส่
นอกจากนี้ยังไม่ควรถอดต่างหูภายหลังการเจาะหูเป็นเวลา 6 สัปดาห์ เพราะนอกจากจะทำให้รูที่เจาะไว้ตันได้แล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วย สาว ๆ ที่เพิ่งเคยเจาะหู สามารถดูวิธีการดูแลรักษาหลังเจาะหูครั้งแรกได้ที่นี่ ส่วนใครที่เคยแพ้ต่างหูมาก่อน ลองทำตามวิธีป้องกันการแพ้ต่างหูข้างต้นกันดู รับรองว่าปัญหาแพ้ต่างหูจะไม่มารบกวนใจอีกต่อไป